ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดพะเยา (เกษตรที่สูง) ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2540
โดยการดูแลของสำนักเกษตรจังหวัดพะเยา เพื่อดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงเป็นแหล่งเรียนรู้
รวบรวมองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดผลดี ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคง
อันเป็นไปตามแนวทางพระราชดำริของ "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" ที่ได้พัฒนาทุก ๆ ด้านไปพร้อมกัน
โดยเริ่มแรกดำเนินงานในพื้นที่ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคงยากต่อการเข้าถึงตัวเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมอบบทบาทภารกิจส่งเสริมการเกษตรบนพื้นที่สูงผ่านทางสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา
และสำนักงานเกษตรอำเภอปง เพื่อให้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรในพื้นที่โดยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว เช่น ไม้ผลไม้ยืนต้นเมืองหนาว และพืชผักเมืองหนาว
ปี พ.ศ. 2549 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดพะเยา (เกษตรที่สูง) เข้ามารับผิดชอบพื้นที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน
โดยดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ
ปี พ.ศ.2556 กรมส่งเสริมการเกษตร มีคำสั่งที่ 257/2556 ลงวันที่ 25 เมษายน 2556 จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดพะเยา (เกษตรที่สูง)
ที่ตั้ง เลขที่ 124 หมู่ที่ 6 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จ.พะเยา 56140 พื้นที่ 100 ไร่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 908 เมตร พิกัด 47Q X=0654928, Y=2140588
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดพะเยา 105 กิโลเมตร อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดน่าน 140 กิโลเมตร
ปัจจุบันศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดพะเยา (เกษตรที่สูง) มีพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมหมู่บ้านและชุมชนบนพื้นที่สูง ในเขตจังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 19,219 ครัวเรือน
โดยมีพื้นที่จังหวัดพะเยา 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา, อำเภอแม่ใจ, อำเภอดอกคำใต้, อำเภอเชียงม่วน, อำเภอปง, อำเภอภูซาง, อำเภอเชียงคำ, อำเภอภูกามยาว และอำเภอจุน
และพื้นที่จังหวัดน่าน 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองน่าน, อำเภอปัว, อำเภอบ่อเกลือ, อำเภอทุ่งช้าง, อำเภอท่าวังผา, อำเภอสองแคว, อำเภอเชียงกลาง, อำเภอเวียงสา, อำเภอแม่จริม, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ,
อำเภอสันติสุข, อำเภอภูเพียง, อำเภอนาน้อย, อำเภอนาหมื่น และอำเภอบ้านหลวง ประชากรประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ เมี่ยน ม้ง ลาหู่ ลีซอ อาข่า ถิ่น ขมุ มาลาบลี(ตองเหลือง) ไทยลื้อและไทยพื้นราบ
|